top of page

TFRS9 กับการจัดแยกประเภทเครื่องมือทางการเงินเพื่อบันทึกบัญชี



สารบัญ


ที่มาที่ไปว่าทำไมต้อง TFRS 9

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน หรือที่เรียกสั้น ๆ กันว่า TFRS 9 ซึ่งมีผลกระทบกับทุกธุรกิจที่บริษัทมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้การค้า เงินให้กู้ยืม หรือแม้กระทั่ง เงินลงทุนในรูปแบบตราสารหนี้ต่าง ๆ ดังที่เราจะกล่าวถึงกัน

เรื่องมันมีอยู่ว่าในช่วงวิกฤตการเงินโลกราว ๆ ปี 2551 นั้นได้เกิดปัญหาสินเชื่อในสหรัฐฯ ขึ้นมา และทำให้ตระหนักถึงการปรับปรุงมาตรฐานบัญชีให้สะท้อนความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เหมาะสมและใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น เพราะมาตรฐานบัญชีตัวก่อนนั้น จะไปตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากการโดยชักดาบ (หรือเบี้ยวหนี้) ก็ตอนที่มันเกิดเรื่องขึ้นแล้ว (เรียกว่าเป็นอาการ “วัวหายล้อมคอก”) โดยสำรองนั้นจะเรียกกันในภาษาบัญชีว่า “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ” แต่ใน TFRS 9 นั้นต้องการให้เจ้าหนี้ได้ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่สะท้อนมุมมองของอนาคตเข้าไปด้วย ซึ่งในภาษาเทคนิคจะเรียกว่า “Forward - looking View” โดยนำ ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomic Variables) มาประกอบการพิจารณาในการมองภาพอนาคตข้างหน้าเพื่อสะท้อนพฤติกรรมของการชำระหนี้เหล่านั้น

สำหรับ TFRS 9 แล้ว “ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL)” จึงถูกนำมาแทนที่ “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ”


เมื่อ TFRS 9 ถือกำเนิดขึ้น

เพื่อที่จะแก้อาการวัวหายล้อมคอกจากการตั้ง “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ” จึงทำให้ตัวมาตรฐานบัญชี TFRS 9 ได้เน้นหนักไปทางการประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss หรือ ECL) ที่ครอบคลุมไปถึงอนาคต เรียกว่า ต้องมีการวิเคราะห์อดีต เพื่อจำลองอนาคต และประเมินมาเป็นมูลค่าในปัจจุบันว่าจะต้องกันสำรองเผื่อการโดนเบี้ยวหนี้ไปเท่าไร โดยในภาษาบัญชีจะเรียกว่า “การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน”

และแน่นอนว่า ตราสารหนี้ ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่ต้องตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss หรือ ECL) หรือกันสำรองส่วนนี้เอาไว้เช่นกัน เพราะในอนาคตเจ้าหนี้ของตราสารหนี้เหล่านี้มีสิทธิ์โดนชักดาบหรือเบี้ยวหนี้ได้ไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว

และในตัวมาตรฐานของ TFRS 9 เองนั้นจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ 1) การจัดประเภทและการวัดมูลค่า (Classification and Measurement) 2) การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss) และ 3) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง (Hedge Accounting) ซึ่งตราสารหนี้นั้นจะเกี่ยวข้องกับการจัดประเภทและการวัดมูลค่ารวมไปถึงการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงินเป็นหลัก


เงื่อนไขของการจัดประเภทและการวัดมูลค่า (Classification and Measurement)

การจัดประเภทเครื่องมือทางการเงินและการวัดมูลค่าของ TFRS 9 นั้น จะเป็นการพิจารณาลักษณะของเครื่องมือทางการเงินตามเงื่อนไข 2 ข้อ เพื่อนำไปลงบัญชีได้ถูกต้อง


เงื่อนไขข้อที่ 1 คือ SPPI Test

โดยต้องพิจารณากระแสเงินสดตามสัญญาจากตราสารหนี้ที่ถือครองว่าประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้นหรือไม่ (Solely Payment of Principal and Interest - SPPI) และดอกเบี้ยนั้นต้องครอบคลุมกระแสเงินสดที่สะท้อนมูลค่าเงินตามเวลา ความเสี่ยงด้านเครดิต รวมถึงความเสี่ยงสภาพคล่องด้วย


ตราสารหนี้ชนิดใดบ้างที่ผ่าน SPPI Test ภายใต้ TFRS 9

1. พันธบัตรที่ไม่มีความซับซ้อน หรือ พวก Plain Vanilla Bond

2. พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-linked bond)

3. ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว

4. Callable Bond และ Puttable Bond

5. หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) ในกรณีที่มีการคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยสะสมที่อาจมีการเลื่อนจ่ายเพราะจะครอบคลุมมูลค่าเงินตามเวลา


ตราสารหนี้ชนิดใดบ้างที่ไม่ผ่าน SPPI Test ภายใต้ TFRS 9

1. หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Note)

2. หุ้นกู้แปลงสภาพ หากการแปลงสภาพที่กำหนดจำนวนตราสารทุนที่สามารถแปลงสภาพได้

3. Basel III Bond หากข้อบังคับที่กำหนดเรื่องการเรียกเก็บขาดทุนจากผู้ถือตราสารชนิดนี้มีการระบุอย่างชัดเจนถึงเงื่อนไขที่ต้องดำรงไว้ในสัญญาของตราสาร

4. หุ้นกู้ Securitization หากหุ้นกู้ดังกล่าวมีเงื่อนไขซึ่งก่อให้เกิดกระแสเงินสดหรือจำกัดกระแสเงินสดในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับการจ่ายเงินที่แสดงถึงเงินต้นและดอกเบี้ย


เงื่อนไขข้อที่ 2 คือ Business Model Test

พิจารณาว่าบริษัทมีเป้าหมายในการถือครองตราสารหนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรใน 3 ข้อนี้

1) เพื่อรับเงินต้นคืนและดอกเบี้ยตลอดตามสัญญาเท่านั้น (Hold To Collect)

2) เพื่อรับกระแสเงินสดตามสัญญาเช่นเดียวกับ 1) และก็อาจขายในอนาคต (Hold To Collect & Sell)

3) เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น (Hold For Trading)


การจัดประเภทเพื่อลงบัญชีของเครื่องมือทางการเงินใน TFRS 9

เมื่อพิจารณาทั้ง 2 เงื่อนไขแล้วจะทำให้สามารถจัดประเภทตราสารหนี้ที่ถือลงทุนอยู่ว่าควรวัดมูลค่าแบบใด ในต่อไปนี้

  1. การวัดแบบ ราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortized Cost : AC) - โดยหากประเมินแล้วพบว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ 1 เรื่องเกณฑ์ SPPI และเงื่อนไขที่ 2 เรื่องการถือครองอยู่ในรูปแบบเพื่อรับเงินต้นคืนและดอกเบี้ยตลอดตามสัญญาเท่านั้น (Hold to collect) จะสามารถใช้วิธีบันทึกบัญชีแบบ ราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortized Cost : AC) ใน TFRS 9 ได้

  2. มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Fair Value through Other Comprehensive Income : FVOCI) - หากประเมินแล้วพบว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ 1 เรื่องเกณฑ์ SPPI และเงื่อนไขที่ 2 เรื่องการถือครองอยู่ในรูปแบบเพื่อรับกระแสเงินสดตามสัญญาและก็อาจขายในอนาคต (Hold to collect & Sell) จะสามารถใช้วิธีบันทึกบัญชีแบบ มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Fair Value through Other Comprehensive Income : FVOCI) ใน TFRS 9 ได้

  3. มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (Fair Value through Profit or Loss - FVPL) - หากประเมินแล้วไม่เป็นตามเงื่อนไขที่ 1 เรื่องเกณฑ์ SPPI หรือเงื่อนไขที่ 2 เรื่องการถือครองไม่ใช่ทั้งในรูปแบบ Hold to collect และ Hold to collect & Sell แต่อยู่ในรูปแบบเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น (Hold for trading) จะใช้วิธีบันทึกบัญชีแบบ มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (Fair Value through Profit or Loss : FVPL) ใน TFRS 9 ได้

การวัดมูลค่าถ้าตกอยู่ในสองรูปแบบแรก คือ ราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortized Cost : AC) หรือ มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Fair Value through Other Comprehensive Income : FVOCI) การถือครองตราสารหนี้นั้นก็จะเข้าข่ายที่จะต้องตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่า ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ TFRS 9 ส่วนที่สองเรื่องการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (ตามรูป)

การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss) ใน TFRS 9

วิธีการรับรู้และวิธีวัดมูลค่าของการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงินตามมาตรฐาน TFRS 9 ที่แตกต่างจากมาตรฐานเดิม คือ การวัดมูลค่าของการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน ที่ถูกจัดประเภทและวัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุนตัดจำหน่าย และ วิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ซึ่งเราเรียกการด้อยค่านี้ได้อีกอย่างว่า “ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น” (Expected Credit Losses หรือ ECL) หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ” ที่รวมถึงการพิจารณาปัจจัยในอนาคต (Forward - looking View) ที่อาจส่งผลต่อการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน

สำหรับเครื่องมือทางการเงินที่ถูกจัดประเภทและวัดมูลค่าด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน นั้นไม่ต้องทำการตั้งด้อยค่า เนื่องจากมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน ได้สะท้อนผลกระทบจากการด้อยค่า ลงในผลประกอบการของบริษัทแล้วนั่นเอง


หลักการจำแนกผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการด้อยค่าใน TFRS 9

  • จำแนกจากผลกระทบเมื่อเกิดการปฏิบัติผิดสัญญา โดยผู้ใดที่ได้รับผลกระทบจากการผิดปฏิบัติผิดสัญญา ผู้นั้นเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการด้อยค่า

  • จำแนกโดยอ้างอิงจากผู้ที่ได้รับผลตอบแทน (“ดอกเบี้ย”) ของเครื่องมือทางการเงิน โดยผู้ใดที่ได้รับดอกเบี้ยจากเครื่องมือทางการเงิน ผู้นั้นเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการด้อยค่า เช่น ผู้ได้รับดอกเบี้ย คือ ผู้ที่บันทึกบัญชีฝั่งสินทรัพย์ และ ผู้ที่จ่ายดอกเบี้ย คือ ผู้ที่บันทึกบัญชีฝั่งหนี้สิน

TFRS 9 / IFRS 9 - เครื่องมือทางการเงินที่ต้องตั้งด้อยค่าหรือต้องประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL)

  1. พันธบัตร (Bond and Corporate Bond) - พันธบัตรเป็นสัญญาที่ออกโดยผู้ขอกู้ยืม โดยจะมีสัญญาข้อผูกมัดที่ว่า ผู้ออกพันธบัตร (หรือผู้ขอกู้ยืม) จะต้องจ่ายผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ให้กับผู้ถือพันธบัตร (ผู้ให้กู้) ตามอัตรา และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพันธบัตร ซึ่งหลักเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของตราสารโดยทั่วไปจะแบ่งตามประเภทของผู้ออกตราสารหนี้ อยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็น กระทรวงการคลัง/รัฐวิสาหกิจ จะเรียกว่า พันธบัตร (Bond) และ ตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็น บริษัทเอกชน จะเรียกว่า หุ้นกู้ (Corporate Bond) หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า พันธบัตรนั้นเป็นสัญญาการกู้ยืมระหว่างองค์กรกับนักลงทุน และถ้าหากเป็นรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออกจะเรียกว่า พันธบัตร (Government Bond) ในขณะที่ถ้าเอกชนเป็นผู้ออกตราสาร จะเรียกว่า ตราสารหนี้เอกชน หรือ หุ้นกู้ (Corporate Bond)

  2. สัญญากู้ยืมเงิน (Loan Agreement) - สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารทางกฎหมายซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง (ผู้ให้กู้) ให้ยืมเงินแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (ผู้กู้) โดยมีเงื่อนไขว่าผู้กู้มีหนี้ในการชำระคืนเงินนั้น ตัวอย่างของสัญญากู้ยืมเงิน เช่น เงินให้กู้ยืมระหว่างบริษัท หรือ เงินที่บริษัทแม่ให้กู้ยืมแก่บริษัทในเครือ เป็นต้น ทั้งนี้ เราจะเรียกว่าเป็นบัญชีลูกหนี้อื่น (Other Receivable) ก็ว่าได้ โดยลูกหนี้ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินการค้าตามปกติของธุรกิจ เช่น ลูกหนี้และเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการและลูกจ้าง เงินให้ยืมแก่บริษัทในเครือและบริษัทร่วม หรือรายได้อื่นเงินปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อย

  3. ใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้ (Invoice) - ใบแจ้งหนี้คือเอกสารที่กิจการออกให้ลูกค้า เพื่อแจ้งหนี้ของสินค้า/บริการที่ลูกค้าได้รับไปแล้ว ให้ลูกค้าทราบถึงจำนวนเงินที่ต้องชำระ พร้อมทั้งแจ้งวันครบกำหนดการชำระเงิน ส่วนใหญ่มักใช้กับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ หรือธุรกิจที่มีการเครดิตในการชำระเงิน โดยเราเรียกเครื่องมือทางการเงินนี้ว่า บัญชีลูกหนี้การค้า (Trade Receivable) ซึ่งสามารถที่จะเกิดการด้อยค่าและทำให้ต้องประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หรือค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) โดยเป็นลูกหนี้ที่เกิดจากการดำเนินการค้าตามปกติของธุรกิจ และจะมีชื่อบัญชีแตกต่างกันได้ตามประเภทของธุรกิจ เช่น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หมายถึงบัญชีระหว่างธนาคารที่มีดอกเบี้ย เงินให้สินเชื่อ และดอกเบี้ยค้างรับ หรือแม้แต่กิจการประกันภัย จะหมายถึงบัญชีเบี้ยประกันภัยค้างรับ เงินค้างรับเกี่ยวกับการประกันต่อ และเงินให้กู้ยืมเป็นต้น

  4. สัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) - สัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) เป็นข้อตกลงเช่า ที่การเช่ามีระยะเวลาที่แน่นอน ตั้งแต่ระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยผู้ให้เช่ามิได้เป็นผู้ให้การบำรุงรักษา ซ่อมแซม ทำประกันภัย หรือการบริการใด ๆ ต่อทรัพย์สินที่ให้เช่าแก่ผู้เช่า ผู้ให้เช่าจะคำนวณค่าเช่า จากราคาทรัพย์สิน ดอกเบี้ย และคุณประโยชน์ของทรัพย์สินนั้น ๆ โดยทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทั้ง 2 ฝ่าย

  5. เครื่องมือทางการเงินอื่น - สัญญาผูกพันวงเงินสินเชื่อ (สัญญาเงินปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อย), รายได้ค้างรับ หรือ มูลค่างานที่เสร็จแต่ยังไม่เรียกเก็บ (Unbilled), เช็ครับล่วงหน้า, เงินทดรองจ่าย, เงินประกันผลงาน ฯลฯ

บทสรุปแนวคิดของ TFRS 9 / IFRS 9 และการจัดประเภทเพื่อบันทึกบัญชี

TFRS 9 นั้นเป็นการปฏิรูปวิธีคิดใหม่จากแนวมาตรฐานบัญชีเดิม โดยเมื่อก่อนหากมีข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดหนี้สูญแล้วค่อยมาตั้งสำรองกันตอนนั้น แต่ในปัจจุบันที่มีการนำ TFRS 9 เข้ามาใช้นั้นเพื่อที่ต้องการให้เจ้าหนี้ได้ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่สะท้อนมุมมองของอนาคตเข้าไปด้วย


Forward - looking View จึงเป็นการนำ ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomic Variables) เข้ามาประกอบการพิจารณาถึงการพยากรณ์พฤติกรรมของลูกหนี้ในอนาคตไปด้วย


TFRS 9 จึงเน้นหนักไปทางการประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss หรือ ECL) ที่ครอบคลุมไปถึงอนาคต เรียกว่า ต้องมีการวิเคราะห์อดีต เพื่อจำลองอนาคต และประเมินมาเป็นค่าในปัจจุบันว่าจะต้องกันสำรองเผื่อการโดนเบี้ยวหนี้ไปเท่าไร โดยในภาษาบัญชีจะเรียกว่า “การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน”


โดยการจะบอกได้ว่าควรจะต้องตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss หรือ ECL) หรือไม่นั้น ก็ดูที่ความเป็นเจ้าหนี้ โดยถ้าวิเคราะห์ดูแล้วว่า ผ่าน SPPI Test กับ Business Model Test นั้นก็จะเข้าสู่การแบ่งแยกประเภทเพื่อลงบัญชีที่จะต้องมีการตั้งสำรองด้อยค่าสำหรับ TFRS 9 ในที่สุด

 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

รับคำนวณ TFRS 9 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน โดยอาจารย์ทอมมี่ (บริษัท ABS) ที่เน้นให้คุณภาพและบริการคุ้มค่าเกินราคา ด้วยประสบการณ์การคำนวณจริงกว่า 240 บริษัท ที่ทุกคนให้การยอมรับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุภิชา (087-100-7199) หรือ อาจารย์ทอมมี่โดยตรงที่ 082-899-7979


สามารถดูตัวอย่างรายชื่อลูกค้า (Our Clients) และเสียงตอบรับจากผู้ใช้บริการการคำนวณของเราได้ที่ www.tfrs9consulting.com/clients

ดู 9,148 ครั้ง
bottom of page